วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ปราสาทพระวิหาร (Temple of Preah Vihear)

มรดกโลกด้านวัฒนธรรม( World Cultural Harvlage )  ของประเทศกัมพูชา 

ปราสาทพระวิหาร  (Temple of Preah Vihear)

             
                 ภาพจาก : http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N255603645

ความเป็นมา

ปราสาทพระวิหาร  เป็นโบราณสถานอายุประมาณ 1,000 ปี  ซึ่งชาวไทยมักเรียกว่า “เขาพระวิหาร” และที่ประเทศกัมพูชาเรียกขานว่า  “เปรี๊ยะวิเฮียร์”  สร้างขึ้นในหลายรัชสมัยของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรขอมเริ่มก่อสร้างตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่  2  ซึ่งปกครองอาณาจักรในช่วงปี  พ.ศ.1345 - 1388 และนักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่า  ปราสาทพระวิหารสร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่  2    (ครองราชย์  พศ.1656-1693)  สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้าคือพระศิวะ ของศาสนาฮินดู 

ที่ตั้ง

ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนผาเป้ยตาดี (Pey Tadi) ของเทือกเขาพนมดงรัก     ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา   การเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารขึ้นได้สองทาง  คือ  ฝั่งไทยเขตอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ  ส่วนกัมพูชาได้สร้างถนนคอนกรีตยาว 3  กิโลเมตร  ไต่เขาขึ้นไปยังปราสาทพระวิหาร เขตอำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร

ภาพจาก : http://www.manager.co.th/travel/ViewNews.aspx?N

ความสำคัญและลักษณะทางสถาปัตยกรรม

ปราสาทมีความโดดเด่นที่ทำเลที่ตั้งปราสาท ซึ่งอยู่บนชะง่อนผาหิน ซึ่งเรียกว่าผาเป้ยตาดี มองลงมาเห็นทิวทัศน์ของประเทศกัมพูชา ลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมคือ เป็นกลุ่มปราสาทที่มีระเบียงคดเชื่อมระหว่างปราสาทแต่ละหลังเริ่มตั้งแต่ทางลาดต่ำเชิงเขาเป็นทิวขึ้นไปจุดถึงสุดผาชัน ปราสาทพระวิหารมีความเป็นเอกในเชิงสถาปัตยกรรมขอมและการตกแต่งปราสาทด้วยประติมากรรมศิลปะขอมโบราณ ตัวปราสาทมีความยาวในแนวแนวเหนือใต้ 800 เมตร มีความโดดเด่นในการออกแบบ การวางผังปราสาท ประติมากรรมที่นำมาประดับตกแต่งด้วยหินแกะสลักภาพแกะสลักนูนต่ำ กับทั้งการสร้างปราสาทให้มีความสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อม ทำให้ภูมิทัศน์ของปราสาทพระวิหารที่อยู่หน้าผาสูงมีความสง่างามย่างยิ่ง ความสำคัญของปราสาทพระวิหาร เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะที่ทรงประทับบนยอดเขาไกรลาส ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล  ทำให้ปราสาทแห่งนี้เปรียบเหมือนการค่อย ๆ ก้าวไปสู่ที่ประทับของพระศิวะ หากมองจากข้างล่างหน้าผาจะเห็นตัวปราสามเหมือนวิมาณสวรรค์ลอยอยู่บนฟากฟ้า โดยมีแผ่นดินเขมรต่ำ ประหนึ่งมหาสมุทรรองรับอยู่เบื้องล่าง

ภาพจาก : http://www.fisheries.go.th/sf-sisaket/web2/index.php?option

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ปราสาทพระวิหารได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณามรดกโลกด้านวัฒนธรรมจำนวน 1 ข้อ ดังนี้

(i) เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์


                                                                                                              เรียบเรียง : อุบลรัตน์  มีโชค

อ้างอิง :

ศุภลักษณ์ สนธิชัย “100 มรดกโลก” สำนักพิมพ์อทิตตา. กรุงเทพฯ: พิมพ์ครั้งที่ 2

สุทธินีย์ พรหมมาลี. “ปราสาทพระวิหาร” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา 

http://suttineemoticha.blogspot.com/2012/07/blog-post.htm (6 กรกฎาคม 2555) 

UNESCO World Heritage Centre. “Temple of Preah Vihear” [online].  Available http://whc.unesco.org/en/list/1224. (20 June 2014)



วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เมืองพระนคร หรือแองกอร์ (Angkor)

มรดกโลกด้านวัฒนธรรม( World Cultural Harvlage )  ของประเทศกัมพูชา 

เมืองพระนคร หรือแองกอร์  (Angkor)


                         

ความเป็นมา

เมืองพระนคร  คือหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองของอาณาจักรเขมรในอดีตทั้งยังสะท้อนภูมิปัญญาอันชาญฉลาด  ทางสถาปัตยกรรมและประติมากรรมของบรรพชนขอมโบราณประวัติศาสตร์ของหมู่ปราสาทเมืองพระนคร  ได้เริ่มต้นขึ้นหลังพระเจ้าชัยวรมัน ที่ 2  ( ครองราชย์ พ.ศ.1345-1378) ประกาศแยกแผ่นดินเป็นอิสระจากชวา และราชวงศ์ต่อมาได้สร้างราชธานีขึ้นที่หริหราลัย ตอนเหนือของโตนเลสาป  หลังจากนั้นพระเจ้ายโศวรมัน ที่ 1  (ครองราชย์ค.ศ.1432-1453)   ได้มี
พระราชดำริย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ยโสธรปุระหรือเรียกกันภายหลังว่า  “เมืองพระนคร”  ถือเป็นยุคที่สร้างปราสาทร้อยแห่ง ในเวลาต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ.1656 - ราว พ.ศ.1693) นครวัดอันยิ่งใหญ่ได้ถือกำเนิดขึ้น ภายหลังเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.1724 - 1761) โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวง ไปยังนครธมและยังได้สร้างปราสาทเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทบายน ปราสาทตาพรม เป็นต้น

ที่ตั้ง

ตั้งอยู่ในเมืองพระนคร จังหวัดเสียมราฐ (เสียมเรียบ) ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 310 กิโลเมตร

ความสำคัญและลักษณะทางสถาปัตยกรรม

เป็นกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศกัมพูชา อุทยานโบราณสถานเมืองพระนครมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 400 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ป่าและปราสาทหิน ประมาณว่าในเขตอุทยานโบราณสถานมีเทวลัยและ ปราสาทหินมากกว่า 100 แห่ง โบราณสถานที่สำคัญ เช่น นครวัดหรือปราสาทนครวัด นครธมหรือปราสาทนครธม  ปราสาทบายน ปราสาทบาปวน อาณาจักรเขมรมีความเชื่อตามศาสนาฮินดู โหราศาสตร์ และการบวงสรวงพระเจ้าและเทวราชาของตน ฉะนั้นสถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้างของเขมรตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบอย่างหนึ่งโดยแนวเขตแดน แกน และตัวแปรทางสถาปัตยกรรมอื่น ๆ มีหน่วยวัดหรือขนาดโดยขึ้นอยู่กับขนาดของวัตถุและมีการแบ่งส่วนประกอบออกเป็นส่วน ๆ ตามตรรกะ โดยแต่ละส่วนจะสามารถวัดขนาดได้จากสิ่งปลูกสร้างทั้งหลัง สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้แฝงไปด้วยแนวความคิดเกี่ยวกับศาสนา การบวงสรวง ปฏิทินและจักรวาลวิทยาด้วย โบราณสถานที่สำคัญในเมืองพระนครประกอบด้วย


ปราสาทนครวัด (Angkor Wat) เป็นศาสนสถานสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 โดยเป็นศาสนสถานประจำของพระองค์ ตัวเทวสถานได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จนเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญเพียงแห่งเดียวที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน เดิมนครวัดเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อถวายพระวิษณุ ชื่อเดิมคือปราสาทวิษณุโลก หมายถึง “เทวลัยของพระวิษณุ” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธ นครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก มีขนาดใหญ่มากถึง 200,000 ตารางเมตร ตัวปราสาทสูง 60 เมตร ยาว 100 เมตร และกว้าง 80 เมตร มีแผนผังที่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการขั้นสุดยอดของปราสาทขอม มีปราสาท 5 หลังตั้งอยู่บนฐานสูงตามคติของศูนย์กลางจักรวาล มีคูน้ำล้อม รอบแทนทะเลสีทันดร (มหาสมุทรบนสวรรค์) ใช้เวลาสร้างร่วม 100 ปี ด้านกำแพงชั้นนอกรอบปราสาท มีความยาว 800 เมตร  มีภาพแกะสลักหินเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และเรื่องราวจากวรรณคดี และรูปแกะสลักนางอัปสรหรือเทพธิดาอีกถึง 1,635 รูป เป็นภาพแกะสลักนูนต่ำ ลักษณะเทพธิดาเหล่านี้คือ เท้าติดพื้น มองไปด้านหน้า อากัปกิริยาอ่อนช้อยยวนตา  เสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับแต่ละรูปแทบจะไม่ซ้ำกันเลย  ปราสาทนครวัดถือเป็นที่สุดของสถาปัตยกรรมเขมรสมัยคลาสสิกรุ่งเรือง และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติโดยปรากฏในธงชาติของประเทศกัมพูชา                                                

ปราสาทนครธม  (Angkor Thom)  นครธมเป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเป็นเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขอม มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของนครวัด จุดเด่นที่สุดคือทางเข้าด้านใต้ ที่มีลักษณะเป็นหน้าเทวพักตร์ 4 ด้าน ก่อนจะเข้าสู่บริเวณนี้ จะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่ 2 สะพาน เมื่อเข้าสู่ใจกลางนครธมเป็นปราสาทหลักของพระเจ้าชัยวรมันเรียกว่า“ปราสาทบายน”

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

           เมืองพระนคร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ "พระนคร" เมื่อปี พ.ศ. 2535 หลังจากสงครามกลางเมืองในเขมรยุติแล้ว องค์การยูเนสโกได้เข้ามาช่วยบูรณะฟื้นฟูปราสาทและได้จัดตั้งโครงการอย่างกว้างขวาง เพื่อป้องกันสถานที่และบริเวณโดยรอบ เมืองพระนครได้ถูกรับเลือกเป็นมรดกโลกโดยมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมจำนวน 4 ข้อ คือ
          (i)   เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
          (ii) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
          (iii)  เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
          (iv)   เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

                                                                                             เรียบเรียง/ภาพโดย : นางอุบลรัตน์  มีโชค
อ้างอิง : 

รัชดา ธราภาค. “ราชอาณาจักรกัมพูชา” บริษัททวีพริ้นท์ (1991).กรุงเทพฯ: พิมพ์ครั้งที่ 1

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. “รายชื่อแหล่งมรดกโลกในทวีปเอเชีย” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/รายชื่อแหล่งมรดกโลกในทวีปเอเชีย (8 เมษายน 2557)

ศุภลักษณ์ สนธิชัย “100 มรดกโลก” สำนักพิมพ์อทิตตา. กรุงเทพฯ: พิมพ์ครั้งที่ 2

ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก. กระทรวงวัฒนธรรม. (2556). “แหล่งมรดกโลก” [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มาhttp://www.thaiwhic.go.th/heritage.aspx (13 ธันวาคม 2556)

สุทธินีย์ พรหมมาลี. “นครวัด หรือ แองกอร์” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา
http://suttineemoticha.blogspot.com/2012/07/blog-post.htm (6 กรกฎาคม 2555)

UNESCO World Heritage Centre. “Angkor” [online].  Available http://whc.unesco.org/en/list/668.
(15 June 2014)





เมืองหลวงพระบาง

มรดกโลกด้านวัฒนธรรม

เมืองหลวงพระบาง (Town of Luang Prabang) 

หอพระบาง ภาพจาก : http:// thaigoodview.com/node/12876
ความเป็นมา

เมืองหลวงพระบาง  อดีตเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศลาวมาก่อน   ในยุคสมัยอาณาจักรล้านช้าง พระเจ้าฟ้างุ้มเป็นผู้รวบรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ของชนเผ่าไท-ลาวในเขตลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำคาน แม่น้ำอู ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้างขึ้นมา  โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่หลวงพระบาง ในช่วงปี พ.ศ.1896-1916  โดยการช่วยเหลือของกษัตริย์ขอม (มเหสีของเจ้าฟ้างุ้ม คือพระราชธิดาของกษัตริย์ขอมในขณะนั้น) พร้อม ๆ กับเอาพุทธศาสนาเข้ามาแทนการนับถือผี เดิมอาณาจักรล้านช้างมีชื่อเรียกว่า“เมืองชวา” อันเนื่องมาจากมีชาวชวาอาศัยอยู่มากกว่ากลุ่มอื่น พอประมาณปี พ.ศ.1900 เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เมืองเชียงทอง” กระทั่งกษัตริย์ขอมได้พระราชทานพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีชื่อว่า“พระลาง” เป็นพระพุทธรูปศิลปะสิงหล เจ้าฟ้างุ้มจีงทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “หลวงพระบาง”

ที่ตั้ง
          
            เมืองหลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางเหนือของนครเวียงจันทร์




ความสำคัญ

หลวงพระบางเป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อม มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมายและบ้านเรือนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ตัวเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง หรือคนลาวเรียกว่า แม่น้ำของ และแม่น้ำคานที่ไหลมาบรรจบกันเกิดเป็นแหลมกลางเมือง   ด้วยเอกลักษณ์และความสวยงามของเมืองหลวงพระบางที่ได้รับอิทธิพลจากสมัยยุคล่าอาณานิคม    ทำให้เมืองหลวงพระบางมีอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียลสไตล์    รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยังคงสวยงามและสืบสานมาจนทุกวันนี้

            หลวงพระบางซีงเคยเป็นเมืองหลวงและเป็นที่ประทับของษัตริย์ลาวมาถึงศตวรรษที่  16   ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดื จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นไม่ใช่แค่บางจุดของเมือง แต่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งเมืองหลวงพระบาง สาเหตุท่สำคัญที่ทำให้เมืองหลวงพระบางได้รับการยกย่องเป็นเมืองมรดกโลก คือ
            1. เมืองหลวงพระบางเป็นศูนย์ กลางของวัฒนธรรม ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน
2. ภูมิศาสตร์ เมืองมีความโดดเด่นการวางผังเมืองมีเอกลักษณ์
3. การดำรงรักษาสถาปัตยกรรมดั้งเดิม การคงสภาพเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  
การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 

เมืองหลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม เมื่อเดือนธันวาคม  พ.ศ. 2538 โดยมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณามรดกโลด้านวัฒนธรรมจำนวน 1 ข้อ คือ
(vi) มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
                                                                         
                                                                       เรียบเรียง : อุบลรัตน์  มีโชค
อ้างอิง :

คู่มือเที่ยวหลวงพระบาง. บทความ:เกี่ยวกับหลวงพระบาง.  [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มาhttp://.go-            Lao.com/blog/ (17 มิถุนายน 2557)

พระราชวังหลวงพระบาง.0221. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.thaigoodview.com/node/12876     (28  มิถุนายน 2557)

สถานที่ท่องเที่ยวลาว. [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา http://www.somsiritours. Com/?   ContentID=              ContentID-100623152424876 (28 มิถุนายน 2557)

UNESCO World Heritage Centre. “Town of Luang Prabang” [online].  Available http://whc.unesco.org/en/list/479 (15 July 2014).



ปราสาทหินวัดพูและสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงในแขวงจำปาสัก

ปราสาทหินวัดพูและสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงในแขวงจำปาสัก (Vat Phou and Associated Ancient Settlements within the Champasak   Cultural Landscape)




ความเป็นมา

ปราสาทหินวัดพู หรือวัดพู นครจำปาศักดิ์ ในอดืตเคยป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัยด้วยกัน คือ อาณาจักรเจนละในช่วงศตวรรษที่ 6-8 ค้นพบจารึกกล่าวถึงการฆ่าคนเพื่อบูชาแด่เทพเจ้า ต่อมาเป็นยุคของอาณาจักรขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร เลือกบริเวณนี้เป็นที่สร้างปราสาทหิน และสุดท้ายอาณาจักรล้านช้างได้เปลี่ยนเทวลัยในศาสนาฮินดูให้เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาท

ที่ตั้ง

ปราสาทหินวัดพู ตั้งอยู่บนเนินเขาภู จังหวัดจำปาสัก


ความสำคัญ


ปัจจุบันปราสาทหินวัดพู ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  ของชาวพุทธ เพราะว่านับตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ศาสนาพุทธได้เข้ามาแทนที่ศาสนาฮินดู ทำให้ศาสนสถานที่เคยเป็นของอาณาจักรขอมมาก่อนเปลี่ยนเป็นการทำพิธีกรรมของศาสนาพุทธ เช่น จะมีการจัดงานประจำปีวัดพู ในช่วงวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี งานสถาปัตยกรรมปราสาทหินวัดพูจะคล้ายกับเขาพระวิหาร ปราสาทหินที่สวยที่สุดในประเทศลาวสิ่งที่แตกต่างกันคือภูมิประเทศ ด้านหลังปราสาทจะเห็นภูเขามองเห็นแต่ไกล รูปร่างคล้ายนมของผู้หญิงและคนเกล้ามวยผม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อภูเขานี้ว่า “เขานมสาว”แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า“ภูเกล้า” นอกจากความสูงของเนินเขาแล้ว ด้านล่างยังถูกโอบล้อมด้วยแม่น้ำโขง ทำให้อากาศเย็นตลอดปี  อาณาเขตของปราสาทหินวัดพู เริ่มต้นจากริ่มฝั่งแม่น้ำโดยมีบันไดทางขึ้นรถหลั่นกันขึ้นมา 3 ชั้น จนถึงองค์ประธานของปราสาทซึ่งอยู่บนสุด นอกเขตวัดมีบารายขนาดใหญ่ เมื่อเข้าไปในบริเวณวัด จะเห็นซากวังที่พระราชวงศ์สายจำปาสักให้สร้างขึ้น ถัดมามีบันไดทางขึ้นขั้นที่ตัดในแนวตะวันออก – ตะวันตก ทอดผ่านสระน้ำทรงสี่เหลี่ยม 2 แห่ง ชั้นกลางมีปรางค์ 2 หลังขนาบ  เหนือโคปุระหรือประตูทางเข้าทั้งสองเป็นทับหลังแกะสลักภาพนูนต่ำเล่าเรื่องราวในศาสนาฮินดู  จากลักษณะอันโดดเด่นของปราสาทหินวัดพูและสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่สองของประเทศลาว

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ปราสาทหินวัดพูและสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 25  เมื่อปี พ.ศ. 2544 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ โดยมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณามรดกโลกด้านวัฒนธรรม ดังนี้
(iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
(iv) เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
(vi) มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ 

                                                                                       เรียบเรียง อุบลรัตน์  มีโชค

อ้างอิง:

ตำนานรัก...แห่ง"จำปาสัก" อลังการงาน "บุนวัดพู 2013" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.thairath.co.th/content/319456 (28  มิถุนายน 2557)

เที่ยวปราสาทหินวัดพู ปราสาทหินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก.  [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มาhttp://.shows.voicetv.co.thvoice-news/87555.html (1  กรกฎาคม  2557)

ปราสาทหินวัดพูและสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงในแขวงจำปาสัก. [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา http://.th.wikipedia.org/wiki/ (1  กรกฎาคม  2557)

ลาวใต้ ปราสาทหินวัดพู ปราสาทวัดพู มรดกโลกแห่งลาวใต้. [ระบบออนไลน์].  แหล่งที่มา http://www.oceansmile.com/Lao/Watphu.htm (28 มิถุนายน 2557)

UNESCO World Heritage Centre. “(Vat Phou and Associated Ancient Settlements within the Champasak   Cultural Landscape )” [online].  Available http://whc.unesco.org/en/list/481 (21 July 2014).